วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558

ดนตรีไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศมาเลเซีย)

ความแตกต่างและความคล้ายคลึงของดนตรีในประเทศมาเลเซีย

เป็นประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วนโดยมีทะเลจีนใต้ กั้น ส่วนแรกคือมาเลเซียตะวันตก อยู่ทางตอนใต้ขอคาบสมุทรมาลายูและคาบสมุทรอินโดจีน มีพรมแดนติดประเทศไทยทางรัฐกลันตัน เประ ปะลิส และเกดะห์ และติดกับสิงคโปร์ทางรัฐยะโฮร์ ส่วนที่ 2 คือ มาเลเซียตะวันออก อยู่ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว มีพรมแดนทิศใต้ติดอินโดนีเซียทุกส่วนของมาเลเซียตะวันตก แต่ล้อมรอบประเทศบรูไนดารุสซาลามด้วยรัฐซาราวักเพียงรัฐเดีชื่อของประเทศมาเลเซียถูกตั้งขึ้นเมือ พ.ศ. 2506 โดยมีความหมายรวมเอาสหพันธรัฐมาลายา สิงค์โปร์ ซาบาห์ ซาราวัก และบรูไนเข้าด้วยกัน คำว่า มาเลเซียนี้เดิมเคยถูกใช้เป็นชื่อเรียกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนที่เป็นหมู่เกาะมาก่อน ซึ่งปรากฏหลังฐานจากแผนที่ที่ตีพิมพ์ในชิคาโกเมื่อปีพ.ศ. 2457 ในการตั้งชื่อประเทศมาเลเซียนั้นมีการนำเสนอชื่ออื่นๆ มากมายก่อนที่จะได้ผลสรุปให้ใช้ชื่อมาเลเซีย มาเลเซียเป็นสมาชิกก่อตั้งของกลุ่มประเทศอาเซียน
ปรากฏความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างหลายชนเผ่าพันธุ์และหลายวัฒนธรรมของประเทศ นอกจากชาวมาเลย์และกลุ่มชนพื้นเมืองแล้ว ยังมีผู้อพยพมาจากจีน อินเดีย อินโดนีเซียและส่วนอื่นของโลก ซึ่งรวมเข้าเป็นพลเมืองของมาเลเซีย มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ อาจเนื่องมาจากการติดต่อสัมพันธ์นานปี กับภายนอกและการปกครองโดย ชาวโปรตุเกส ดัตช์ และ อังกฤษ ผลที่เกิดตามมาคือการวิวัฒน์ของประเทศจนเปลี่ยนรูปของวัฒนธรรมดังจะได้เห็น การผสมผสานได้อย่างวิเศษของ ศาสนา กิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีการแต่งกาย ภาษาและอาหาร ประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชคืนจากอังกฤษมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1957เป็นสหพันธ์มาเลเซีย ต่อมาเมื่อรวมรัฐซาบาห์ และ รัฐซาราวัดเข้าด้วยแล้ว ประเทศมาเลเซียจึงได้ถือกำเนิดขึ้น

วงดนตรี มาเลเซียมีวงดนตรีพื้นเมืองสองชนิดได้แก่ วงกาเมลัน และวงโนบัต วงกาเมลันมีต้นกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซีย โดยเป็นวงดนตรีแบบดั้งเดิมซึ่่งเล่นดนตรีจังหวะเบาๆ เครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ ฆ้องและเครื่องสาย ส่วนโนบัตคือวงดนตรีในราชสำนักซึ่งเล่นเพลงทางศาสนาที่เคร่งขรึมมากกว่าโดยเล่นให้แก่ราชสำนักเป็นหลัก เครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ ปี่เซรูไนและปี่นาฟิริ

เครื่องดนตรีของประเทศมาเลเซียนั้นมีความคล้ายคลึงกับเครื่องดนตรีไทยอยู่หลายชนิดและเครื่องดนตรีที่จะนำเสนอนี้เราได้รับการถ่ายทอดลักษณะของเครื่องดนตรีเป็นอย่างมากเนื่องจากไทยเราได้รับอารยธรรมของประเทศมาเลเซียจึงมีเครื่องดนตรีที่มีคล้ายคลึงกันดังตัวอย่างเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้

ปี่เซรูไน ( serunai )เป็นปี่ที่มีความคล้ายคลึงกับปี่ไฉนของประเทศไทยเรามากเนื่องจากเราได้รับวัฒนธรรมจากประเทศทางตอนใต้ของประเทศไทยเชื่อกันว่าปี่ไฉนได้รับแบบอย่างมาจากปี่เซรูไนของชาวมาเลเซีย ลักษณะของการบรรเลงนั้นปี่เซรูไนจะบรรเลงเป็นทำนองมากกว่าปี่ไฉน ส่วนปี่ฉนนั้นจะบรรเลงไปในทางโหยดังที่เห็นในพระราชพิธีหลวงในบทเพลงพญาโศกลอยลม จะบรรเลงไปในลักษณะทางโหยดูไม่มีจังหวะที่ไม่ตายตัว ส่านรูปลักษณะนั้นมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งตัวลำโพงของปี่จนกระทั่งจำนวนรูปิดนิ้วบังคับเสียงของปี่ก็มีจำนวนเท่ากันแต่เรื่องของขนาดปี่ไฉนบ้านเรามีขนาดเล็กกว่า

ส่วนเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งที่จะเปรียบเทียบความคล้ายคลึงให้เห็นคือ กีดอมบัก ( gedombak ) เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีลำตัวกลองทำมาจากไม้ส่วนหน้ากลองขึงด้วยหนังเครื่องดนตรีชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับโทนชาตรีของประเทศไทยถ้านำมาวางคู่กันอาจจะแยกแยะไม่ออกเลยก็ได้ว่าอันไหนคือกีดอมบักและอันไหนคือโทนชาตรี เพราะมีความคล้ายคลึงกันมากส่วนในเรื่องของเทคนิคของการบรรเลงนั้นอาจจะแตกต่างกันอยู่บ้าง
จากที่ได้เห็นการเปรียบเทียบความคล้ายคลึงของเครื่องดนตรีสี่ประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วมันเป็นการบ่งบอกถึงความคล้ายคลึงความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศที่มีความพัวพันกันมาช้านาน เช่น การค้าขาย วัฒนธรรมรวมถึงศาสนาซึ่งอาจมี่ความเชื่อถือเป็นความเกี่ยวพันในการถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านเครื่องดนตรีเหล่านี้

ดนตรีไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศกัมพูชา)

ความแตกต่างและความคล้ายคลึงของดนตรีในประเทศกัมพูชา

จากประเทศข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้ว ประเทศที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมดนตรีในประเทศไทยเป็นอย่างมากอีกประเทศหนึ่งนั้น ก็คือประเทศกัมพูชานั้นเอง ประเทศกัมพูชานั้นเราคงจะรู้จักกันดีในนามของ “ขอม”  คำว่า ขอม ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือจามะเทวีวงศ์ จะไม่ได้หมายถึงคำว่า “เขมร”  แต่คงหมายถึงมอญแห่งอาณาจักรทวาราวดีนั้นเอง เพราะในพงสาวดารโยนก ว่าชาติไทยได้เคยสู้รบกับพวกขอมหรือบางแห่งก็เรียกขอมดำ ประกอบทั้งเขมรเองก็ไม่ได้เรียกตนว่าขอม หากในระยะต่อมา “เขมร” มาตีได้อาณาจักรทวาราวดีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คำว่าขอมและเขมร จึงปนกัน แล้วเข้าใจต่อมาว่าเป็นชื่อของชาติเดียวกัน เพราะเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แห่งอาณาจักรทวาราวดีของมอญ เหลื่อมล้ำต่อเนื่องกันพอดีกับของเขมร และทั้งมอญและเขมรก็ได้เป็นชนชาติอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาณาจักรทวารวดีนั้น ในปัจจุบันก็มีอาณาเขตอยู่ในประเทศไทย ด้วยความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์นี้ ก็สันฐานให้เห็นได้ถึงการถ่ายเทของวัฒนธรรมมาตั้งแต่ในสมัยอดีต การดนตรีในแทบภูมิภาคของประเทศไทยซึ่งอยู่ในอาณาเขตของอาณาจักรทวาราวดีในอดีตซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเขมร ดนตรีจึงมีความคล้ายคลึงกับของเขมรและมีความแตกต่างกันไปตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ


      จากความคล้ายคลึงของวัฒนธรรมดนตรีในประเทศเขมรนั้น มีความคล้ายคลึงกับดนตรีในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

จากที่ได้เห็นความคล้ายของวงเครื่องสายกัมพูชากับวงเครื่องสายไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางด้านดนตรี นั้นมีความคล้ายคลึงกันมากกับประเทศไทย ในช่วง พุทธศักราช  2472- 2473 ท่านครู หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปะบรรเลง ) ตามเสด็จประพาส  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะเดียวกันทางด้านเจ้าเมืองเขมรทรงให้ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะช่วยไปปรับวงให้วงดนตรีของเขมรนั้น มีความแข็งแรงขึ้น ในขณะเดียวกัน การปรับวงก็ได้มีการนำเพลงไทยไปถ่ายทอดให้กับชาวเขมร จึงส่งผลทำให้การบรรเลงดนตรีของชาวเขมรคล้ายคลึงกับการบรรเลงดนตรีของชาวไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกันทั้งรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรีและรูปแบบการบรรเลงที่คล้ายกัน แต่ก็ไม่เหมือนเลยซะทีเดียว


              ลักษณะความคล้ายคลึงของเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีเขมรนั้นไม่ค่อยจะแตกต่างกันซะเท่าไหล่ดังที่จะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
ปี่ใน ของชาวเขมร ( สรอไฬธม )  กับปี่ในของชาวไทยนั้นรูปร่างลักษณะนั้นมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากทั้ระดับความยาวของเลาปี่ และความกว้างของเลาปี่ รวมทั้งจำนวนรูปิดนิ้ว บังคับเสียงก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากรวมถึงอุปกรณ์ให้กำเนิดเสียงคือลิ้นปี่ก็ใช้วัสดุเหมือนกัน แต่ที่จะแตกต่างจากปี่ในของไทยก็คือรูปแบบลักษณะของการบรรเลง
ที่บอกว่ามีความแตกต่างในลักษณะของการบรรเลงนั้นคือการเป่าไปในทางดำเนินทำนองหลัก แต่ปี่ของไทยเรานั้นจะไม่เป่าดำเนินทำนองหลัก แต่จะมีทำนองเป็นเอกลักษณ์ประจำของตัวเองหรือตามหลักศัพท์สังคีตของไทยที่นักดนตรีไทยรู้จักในคำว่าทางเก็บ แต่ที่ยังคงมี่ความคล้ายคลึงกันก็คือ การเป่าโหย ( คือการเป่าลากเสียงนั้นยาว ) และการพรมนิ้ว ( คือการเป่าโดยใช้นิ้วขยับเพื่อบังคับเสียงให้เป็นเสียงสั่นโดยเร็วแต่ไม่ถึงกับเร็วมาก) จากที่ได้อธิบายให้เห็นจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก

กรอเปอ หรือ จระเข้ ประเทศไทยบ้านเรา


 ลักษณะของ กรอเปอ กับ จระเข้ ไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกันแต่ที่จะแตกต่างกันก็คือขนาดและสัดส่วนของกรอเปอนั้นจะใหญ่กว่าจระเข้ของไทยด้านปลายจะเชิดแหลมส่วนจระเข้ของไทยเรานั้นด้านปลายจะไม่เชิดแหลม และอีกส่วนที่แตกต่างกันนั้นก็คือ นม นมของกรอเปอนั้นมี่จำนวน 12 นม ส่วนนมของจระเข้ไทยนั้นมี11นม ส่วนในเรื่องของการบรรเลงนั้นเหมือนกันแต่การดีดนั้นจะไม่เหมือนของไทยตรงการนำไม้ดีดเข้าดีดออก
จากที่เห็นข้างต้นที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชานั้นมีความคล้ายคลึงกันมากรวมถึงศาสนา ที่เคารพนับถือนั้นก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกความคล้ายคลึงและความสัมพันธ์อีกด้วย

ดนตรีไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศลาว)



      ถ้าจะกล่าวถึงวัฒนธรรมของประเทศลาวเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาณาจักรล้านช้าง เป็นอาณาจักรของชนชาติลาวซึ่งตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง มีอาณาเขตอยู่ในบริเวณประเทศลาวทั้งหมด ตลอดจนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งการเมืองการปกครอง ด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพระพุทธศาสนา ที่มีพัฒนาการเคียงคู่มาพร้อมกันอาณาจักรอื่นๆใกล้เคียง ทั้งล้านนา สยาม พม่า และเขมร
                                                  
ดนตรีลาวเดิมในปัจจุบันนั้นมีความคล้ายคลึงกับ ดนตรีไทยของเราเป็นอย่างมากเนื่องจาก ความสัมพันธ์ด้านดนตรีระหว่างราชสำนักสยามและราชสำนักลาวหรือในปัจจุบันที่นักวิชาการด้านดนตรีของลาวเรียกว่าดนตรีลาวเดิมนั้น ปรากฏภาพเป็นรูปธรรมตั้งแต่ครั้งสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ลาวเป็นเมืองขึ้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร ในครั้งนั้นฝ่ายไทยได้นำพระบรมวงศ์และเจ้าอนุวงศ์โอรสของสมเด็จเจ้าสิริบุญสารมาไว้ที่กรุงเทพฯในฐานะตัวประกัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่บั่นทอนความรู้สึกด้านความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศก็ตาม แต่ในมุมกลับกัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นกลับปรากฏภาพอันงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิตรภาพ อันงดงามผ่านมิติด้านการดนตรีและละคร ระหว่างบรมวงศ์ชั้นสูงฝ่ายไทยและลาว ซึ่งกาลต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระนามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเจ้านายฝ่ายลาวพระนามเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งภายหลังได้ครองเมืองเวียงจันทน์
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ด้านดนตรีและการละครของราชสำนักไทยและลาว คงจะไม่มีในยุคใดที่ปรากฏภาพที่ชัดเจนเท่ายุคของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยของไทย และยุคที่เจ้าอนุวงศ์กลับมาปกครองเวียงจันทน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าอนุวงศ์ถือเป็นบุคคลที่ทำให้เกิดภาพที่เคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ดนตรีตลอดสมัยของพระองค์ โดยเจ้าอนุวงศ์นั้นได้เคยประทับอยู่ในประเทศไทยถึง 16 ปี ขณะที่ทรงประทับอยู่ในราชสำนักไทยนั้น พระองค์ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ร่วมกับบรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินของไทย จากการที่ทรงประทับอยู่เป็นเวลาหลายปีทำให้ทรงได้ศึกษาธรรมเนียมในราชสำนักไทยเป็นอย่างดี นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงมีความสนิทชิดเชื้อกับเชื้อพระวงศ์ไทยหลายพระองค์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยตั้งแต่ครั้นยังทรงพระเยาว์ และเจริญพระชนม์พรรษามาด้วยกัน
 ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระปรีชาญาณด้านดนตรีเป็นอย่างยิ่ง และสนพระทัยในศิลปะอีกหลายแขนง ดังนั้นแผ่นดินสยามภายใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ การดนตรี นาฏศิลป์ กวีนิพนธ์ มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างเด่นชัด ในรัชสมัยของพระองค์มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตจำนวนมากในราชสำนักที่สำคัญคือ สุนทรภู่ มหากวีเอกยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์ทรงรักและเคารพในรัชกาลที่ 2 ของไทยเป็นอย่างมาก ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ของไทยก็ทรงให้เกียรติต่อเจ้าอนุวงศ์เช่นกัน ดังนั้น ในช่วงที่เจ้าอนุวงศ์กลับไปครองกรุงเวียงจันทน์ในฐานะประเทศราชของไทย ความสัมพันธ์ระหว่างสองแผ่นดินจึงเป็นไปด้วยความราบรื่น   หากพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าความสัมพันธ์อันราบรื่นในภาพแห่งการสมานฉันท์นี้เกิดจากพระราชหฤทัยของพระเจ้าอยู่หัวของไทยและเจ้าเมืองเวียงจันทน์ที่รักในเสียงดนตรี จึงอาศัยดนตรี-ละครเป็นสื่อแห่งสัมพันธภาพที่ดูเป็นธรรมชาติและงดงาม
อีกปัจจัยหนึ่งที่ที่ให้ดนตรีในประเทศใทยกับลาวมีความคลายคลึงกันคือ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏ และได้ทำการปราบปรามจนสามารถจับเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2370 ก็ได้มีการกวาดต้อนครอบครัวชาวเวียงจันทน์และชาวเมืองอื่น ๆ ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ดังข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ความว่า
"ครอบครัวเวียงจันทน์ครั้งนั้น โปรดเกล้าให้อยู่เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี เมืองสุพรรณบุรี บ้าง เมืองนครชัยศรีบ้าง พวกเมืองนครพนม พระอินทร์อาสาไปเกลี้ยกล่อมก็เอาไว้ที่เมืองพนัสนิคม กับลาวอาสาปากน้ำ ซึ่งไปตั้งอยู่ก่อน"


เหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าครอบครัวชาวเวียงจันทน์ ชาวบ้านราษฎรฝั่งขวาแม่น้ำโขงได้ถูกกองทัพ ไทยกวาดต้อนมาเป็นเชลยถึง 2 ครั้ง 2 ครา ให้อยู่ในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ทั้งในภาคกลางบ้าง ภาค อีสานบ้าง ตามรายทางการถูกกวาดต้อนมา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี แม้แต่ดนตรี ต่าง ๆ ที่เป็นประจำพื้นเมืองของชาวบ้าน ก็คงจะต้องนำติดตัวมาด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้ "หมอลำ-หมอแคน" อันเป็นศิลปะการร้องรำของชาวฝั่งขวาแม่น้ำโขง จึงได้ถูกนำติดตัวมารำ-ร้อง และบรรเลง เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ในยามคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนอย่างแน่นอน ศิลปะ แขนงนี้ จึงได้ถูกนำมาร้องเผยแพร่ในภาคกลาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้แต่ในเมืองหลวงเองก็ยังมี การละเล่นหมอลำ หมอแคนกันอย่างแพร่หลาย



             เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 3 แล้ว พอมาถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อิทธิพลของการละเล่นหมอลำ หมอแคนยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ข้าราชบริพารของ พระมหากษัตริย์หลายท่านก็มีความนิยมในการละเล่นและสนับสนุนเป็นอย่างมาก แม้แต่พระบาท สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชาในรัชกาลที่ 4 ก็ได้ทรงโปรดการแสดงหมอลำหมอแคน มาก จนถึงกับทรงลำและเป่าแคนได้เป็นอย่างดี ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 4 หน้า 315 มีความตอนหนึ่งได้กล่าวถึงสมเด็จพระปิ่นเกล้าว่า



"พระองค์ทรงโปรดแคน ไปเที่ยวทรงตามเมืองพนัสนิคมบ้าง ลาวบ้านลำประทวน เมือง นครชัยศรีบ้าง บ้านศรีทา แขวงเมืองสระบุรีบ้าง พระองค์ฟ้อนและแอ่วได้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ได้เห็น พระองค์ก็สำคัญว่า ลาว"


หมอลำ หมอแคน กลายเป็นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาในสมัยนั้น จนมหรสพอื่น ๆ เป็นต้น ว่า ปี่-พาทย์ มโหรี เสภา ปรบไก่ สักวา เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ ต้องแพ้การละเล่นลำแคน หรือหมอลำ หมอแคนอย่างราบคาบ จนหากินแทบไม่ได้ ครั้นประชาชนชาวกรุงเทพฯ พากันนิยมเล่นแคนหนัก เข้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เกิดความวิตก ด้วยพระองค์เห็นว่า การละเล่น ลำแคนไม่ควรเอาเป็นพื้นเมืองของไทย จึงได้ทรงประกาศห้ามการเล่นลำแคนขึ้น ซึ่งสมัยนั้นเรียก ว่า การเล่น "แอ่วลาว" บ้าง "ลาวแคน" บ้าง ซึ่งได้แก่การ “ลำ” ที่มีการเป่าแคนประสานเสียง ซึ่งเรียกว่า "หมอลำ" สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ขับร้องและออกท่ารำประกอบ และ "หมอแคน" คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป่า แคน ประสานเสียงประกอบเป็นทำนองเพลงต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้น นักร้องจะ ร้องเพลงได้ไพเราะน่าฟังจะต้องมีดนตรีประกอบการขับร้องฉันใด หมอลำจะขับลำได้อย่างไพเราะ ก็จะต้องมี "หมอแคน" ประกอบการขับลำ การขับลำนั้นจึงจะสมบูรณ์ก็ฉันนั้น ด้วยสาเหตุที่เอง ดนตรีลาวและดนตรีไทยจึงมีความคล้ายคลึงกับดนตรีไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งจะยกตัวอย่างและเปรียบเทียบไว้พอสังเขป ดังนี้

การเปรียบเทียบรูปแบบวงดนตรีในประเทศลาวกับวงดนตรีในไทยเรานั้นวงดนตรีของชาวลาวนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับดนตรีไทยเดิมของไทยเรา เพียงแต่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบแผนไปบ้างตามความเจริญของวัฒนธรรมนั้นๆ เป็นการเพิ่มเติมเครื่องดนตรีเข้าไปในวงดนตรีของลาวบาง เช่น แคน ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านในถิ่นนั้นอยู่แล้วเข้าไปบ้าง การบรรเลงก็มีความคล้ายคลึงกับดนตรีไทยเราแต่ในเรื่องการขับร้อง ยังมีการนำภาษาของประเทศลาวนั้นซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาไทยเรามาสอดแทรกในเนื้อเพลงด้วย ในรูปแบบการบรรเลงนั้นก็มีความคล้ายคลึงกันกับดนตรีไทยของเรา จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่าดนตรีแบบที่เล่นในประเทศไทยนั้นได้มีการกระจายตัวไปในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอันใดก็แล้วแต่ที่เป็นตัวแปรและส่งผลให้วัฒนธรรมทางดนตรีมีความคล้ายคลึง และความแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศและวิถีชีวิตของผู้คน ก็น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมดนตรีในประเทศไทยของเรา

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ดนตรีไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศพม่า)


ดนตรีไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศพม่า)


                 ดนตรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of South East Asian Nations)  หรืออาเซียนที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้น ในอดีตนั้นต่างมีวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายเทกันมาตลอดเวลาอันยาวนาน วัฒนธรรมดนตรีจึงมีความคล้ายคลึงกันแต่จะมีเอกลักษ์ความแตกต่างกันไป ตามบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งมีการแตกแขนงวิชาดนตรีออกไปอีกมากมาย แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของดนตรีไทยมากขึ้น ในบทนี้จึงได้จัดทำการเปรียบเทียบ ระหว่างดนตรีไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ด้วยเหตุที่ประเทศเพื่อนบ้านมีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตการเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมไทย เช่น ประเพณี ศาสนา การดนตรีนาฏศิลปและศิลปกรรมต่างๆ 
                เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมดนตรีของไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้นจึงได้แสดงให้เห็นถึง ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างดนตรีไทยกับประเทศเพื่อนบ้านไว้เป็นกรณีศึกษาต่อๆไป
                ดนตรีในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น มีความคล้ายคลึงกันมากเนื่องจากประเทศต่างๆโดยรอบประเทศไทย เช่น ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย ล้วนแล้วแต่มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทยทั้งสิ้น ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ จึงก่อให้เกิดเส้นทางแห่งวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่มาเป็นเวลาหลายพันปี
               เพื่อเป็นการบงบอกเอกลักษ์ของดนตรีไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง และความคล้ายคลึงของวัฒนธรรมดนตรี ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา ในที่นี้จะขออธิบายแตกต่างและความคล้ายคลึงของวัฒนธรรมดนตรีที่ใกล้เคียงกับของดนตรีของไทย เพื่อความเขาใจในจุดเด่นและพัฒนาการของดนตรีไทยมากขึ้น จะขอนำเสนอเนื้อหาดังต่อไปนี้


ประเทศพม่า
               ชาวพม่าแท้ อพยพมาจากธิเบต เป็นชนเผ่ามองโกล อพยพมาตามลุ่มน้ำพรหมบุตร เข้าสู่แคว้นอัสสัม และตั้งถิ่นฐานอยู่ตามลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนกลาง กลายเป็นชาวพม่าในปัจจุบัน ถ้าจะพูดถึงประเทศพม่า เราก็คงรู้จักชาวมอญกันเป็นอย่างดีเพราะชาวมอญนั้นในอดีตเคยมีความยิ่งใหญ่และมีความเจริญทางวัฒนธรรมมากในดินแดนของพม่าในปัจจุบัน มอญ หรือตะเลง  เป็นเชื้อสายเดียวกับขอม หรือเขมร อพยพมาจากจีนตอนใต้ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ราบต่ำ แถบปากน้ำอิรวดี แม่น้ำสะโตง และแม่น้ำสาละวิน เมืองหลวงเดิมชื่อ สะเทิม เคยมีอำนาจรุ่งเรืองมาก่อน มอญได้สร้างเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง มอญถูกพม่าแท้รุกรานอยู่ตลอดเวลา มอญเคยมีอำนาจรุ่งเรือง และเคยปกครองภาคใต้ของพม่าได้ทั้งหมด โดยมีกรุงหงสาวดีเป็นราชธานี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๔๙ มอญพ่ายแพ้พม่าอย่างยับเยิน จนแตกกระจัดกระจายลงไปทางใต้ และอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นจำนวนมาก มอญเป็นชนชาติรักสงบมีภาษาของตนเองและมีวัฒนธรรมสูง         
                ปัจจุบันมอญได้กลายเป็นพม่าไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน มนุษย์ในตระกูลมอญเขมรเป็นพวกใหญ่และในสมัยโบราณซึ่งอารยธรรมที่มีความเจริญอยู่ในระดับสูงในช่วงนั้น มีอยู่ 2 ชาติ คือ มอญ และขอม วัฒนธรรมทั้งสองชาตินี้ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมในดินแดนนี้เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าชาติมอญจะสิ้นชาติเอกราชไปแล้วก็ตาม แต่เราก็รู้จักมักคุ้นกับชาวมอญกันมาเป็นเวลายาวนานมากแล้ว เพราะมอญเป็นชนชาติเก่าแก่ มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล" คาดว่าน่าจะอพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย เข้ามาตั้งอาณาจักรของตนทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีน และอินเดียเรียกว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ" ศิลปวัฒนธรรมมอญนั้น กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมของพม่าไปหมด ศิลปวัฒนธรรมส่วนใหญ่นั้น พม่าได้รับไปจาก"มอญ"เป็นส่วนมาก ร่วมถึงในเรื่องของวัฒนธรรมดนตรีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือประเทศพม่าล้วนแล้วแต่ ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมมอญทั้งสิ้น ศิลปะการดนตรี นั้น ไทยได้รับอิทธิพลจาก"มอญ"มามากเช่นกัน เช่น ไทยเรารับ"ปี่พาทย์มอญ" และรับได้ดีทั้งรักษาไว้จนปัจจุบัน และให้เกียรติ์เรียกว่า ปี่พาทย์มอญ และนิยมบรรเลงในงานศพ ดนตรีไทยที่มีชื่อเพลงว่า มอญ มีมากมายเช่น มอญดูดาว มอญชมจันทร์ มอญรำดาบ มอญอ้อยอิ่ง นอกจากนี้ก็ยังมี มอญร้องไห้ มอญนกขมิ้น ฯลฯ และยังมี"แขกมอญ" คือ ทำนองทั้งแขกทั้งมอญ เช่น แขกมอญบางขุนพรหม แขกมอญบางช้าง เป็นต้น เพลงทำนองของมอญ มีความสง่าภาคภูมิ เป็นผู้ดีมีวัฒนธรรม และค่อนข้างจะเย็นเศร้า ซึ่งเป็นลักษณะของผู้มีวัฒนธรรมสูง ย่อมสงวนทีท่าบ้างเป็นธรรมดา แต่ที่สนุกสนานก็มีบ้าง เช่น กราวรำมอญ มอญแปลง ฯ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะ คือ กลอง ที่เรียกว่าเปิงมาง นั้น คาดว่าเป็น"มอญ" ไทยเรานำมาผสมวง ทำคอกล้อม เป็นวงกลมหลายวง เรียกว่า เปิงมางคอก ตีแล้วฟังสนุกสนาน
              ในส่วนวัฒนธรรมดนตรีของมอญที่ซึมซับเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของชาวพม่าที่เห็นชัดๆก็เห็นจะเป็นวง “ซายวาย” วงซายวายเป็นวงดนตรีพื้นเมืองวงใหญ่สุดของพม่า เครื่องดนตรีสำหรับวงซายวาย มี ๑๒ ชิ้นเป็นอย่างน้อย มีทั้งเครื่องหนัง เครื่องโลหะ และเครื่องไม้ เป็นวงดนตรีที่มีเฉพาะเครื่องตีและเครื่องเป่า ไม่มีเครื่องสี เครื่องดนตรีทั้ง ๑๒ ชิ้นในวงซายวาย ได้แก่ เปิงมางคอก กลองใหญ่ กลองสั้น ตะโพน กลองชุดหกใบ ฆ้องวง ฆ้องแผง ฉิ่ง ฉาบ เกราะ กรับไม้ไผ่ และปี่แน
                หากเปรียบวงซายวาย กับวงปี่พาทย์มอญในไทย และของล้านนาแล้ว นับว่ามีความแตกต่างในส่วนของเครื่องดนตรีประกอบวงอยู่บ้าง ในหนังสือ "ดนตรีไทย โครงสร้าง อภิธานศัพท์และสารสังเขป"  กล่าวถึงวงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ในไทยว่า ประกอบด้วย เครื่องดนตรี ๑๔ ชิ้น คือ ปี่มอญ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงกลาง ฆ้องวงเล็ก ตะโพนมอญ เปิงมางคอก ฉิ่ง ฉาบใหญ่ ฉาบเล็ก โหม่ง(ฆ้องราว) สำหรับวงซายวายของพม่านั้น ถือเอาปัตวายหรือเปิงมางคอกเป็นตัวชูโรง มีเสียงปี่แนเป็นตัวเสริม และวงปี่พาทย์พม่าไม่มีระนาดร่วมเล่นอย่างวงปี่พาทย์มอญของไทย ที่จริงพม่าก็มีระนาด แต่จัดเป็นเครื่องดนตรีมอญ พม่านิยมเล่นระนาดในการแสดงที่เรียกว่า อะเญ่ง  ซึ่งมีจังหวะนุ่มนวล และไม่ดังอึกทึกอย่างวงซายวาย อะเญ่งจัดเป็นการแสดงแบบแชมเบอร์มิวสิค ในขณะที่ซายวายเป็นวงดนตรีแบบออเครสต้า ทั้งอะเญ่งและซายวายต่างเป็นการแสดงในราชสำนัก และจากการที่ซายวายเป็นวงดนตรีที่มีเสียงดังกระหึ่ม จึงเหมาะที่จะแสดงกลางแจ้งหรือในห้องโถง